หนึ่งในสำนวนไทยที่เราอาจได้ยินกันบ่อย ด้วยเพราะเป็นหนึ่งในสำนวนที่สื่อความหมายถึงสภาพเศรษฐกิจของไทย นั่นคือสำนวนที่ว่า “ข้าวยากหมากแพง”
ความหมายของ “ข้าวยากหมากแพง”
หากแบ่งสำนวนนี้ออกเป็นสองส่วน จะได้เป็นคำว่า “ข้าวยาก” และ “หมากแพง” ซึ่งทั้งสองต่างมีความหมายในตัวเอง
ข้าวยาก มาจากคำว่า “ข้าว” ที่หมายถึงข้าว , ข้าวสาร ข้าว ก็คืออาหารหลักของคนไทยเราตั้งแต่สมัยก่อน มารวมกับคำว่า “ยาก” ที่หมายถึง ลำบาก , ไม่สะดวก , ไม่ง่าย เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน จึงหมายความได้ว่า หาข้าวมาได้ยากลำบากหรือมีราคาแพง สาเหตุอาจมาจากการทำนาได้อย่างลำบาก ด้วยปัจจัยภายนอกที่สำคัญต่อการปลูกข้าวนั่นคือ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งภัยธรรมชาติ เช่น พายุฝน , น้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือจะเป็นเพราะหน้าแล้ง ในอดีตไม่ได้มีระบบชลประทานแบบในปัจจุบัน ทำให้บางครั้งน้ำในคลองมีไม่พอปลูกข้าวทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี หรือเจอศัตรูธรรมชาติ เช่น โรคทางพืช ฝูงแมลงต่างๆ สร้างความเสียหาย ทำให้ข้าวไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร มีข้าวออกมาน้อยกว่าที่ต้องการ
หมากแพง หากมองความหมายทีละคำ “หมาก” จะหมายถึงพืชชนิดหนึ่งที่นำมากินกับพลู สื่อถึงหมากพลูที่ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อนชอบกิน แต่คำว่าหมากในสำนวนนี้หมายถึง ผลหมากรากไม้ ดังนั้นคำว่า หมากแพง จึงหมายถึงผลไม้มีราคาแพง สื่อรวมถึงพืชผลอื่นๆ ด้วยได้เช่นกันเมื่อนำทั้งสองส่วนมารวมกัน เป็น “ข้าวยากหมากแพง” สื่อถึงยุคที่ผลผลิตไม่ได้ไปตามคาดหมาย มีน้อยกว่าจำนวนที่ต้องการ ทำให้ทั้งข้าวสาร และพืชผลทั้งหลายมีราคาแพง เรียกว่าเป็นช่วงที่ประชาชนจะอยู่ลำบาก
คำว่าข้าวยากหมากแพง ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจสื่อถึงการที่หาซื้อข้าวและผลหมากรากไม้ได้อย่างลำบาก มีราคาแพงขึ้น แต่สำหรับปัจจุบันสื่อถึง ยุคสมัยที่ประชาชนอยู่กันได้อย่างลำบาก เนื่องเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ หลายๆ ครัวเรือนอาจมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกสบายอย่างเดิม บางบ้านที่พอจะมั่งมีก็สามารถผ่านพ้นไปได้ แต่หากเป็นบ้านที่ไม่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว มาเจอพิษเศรษฐกิจแบบนี้ที่ข้าวของแพงขึ้น กินข้าวแต่ละมื้อก็ต้องจ่ายเกือบร้อย ทำให้ต้องรัดเข็มขัด ประหยัดเงินกันไม่น้อย ไม่สามารถขยับขยายที่ทาง หรือกิจการอะไรได้ ทำให้เสียโอกาสในชีวิต และยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ เพราะตลาดจะเริ่มซบเซาลง
จะเห็นได้ว่า “ข้าว” ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตผลทางการเกษตรเท่านั้น ข้าวเป็นหนึ่งในวัฒนธรรม วิถีชีวิต ซึมซํบเข้าเป็นส่วนหนึ่ง และถูกปลูกฝัง จดจำต่อๆ กันมา ทังในรูปแบบของพิธีกรรม ความเชื่อ และสุภาษิต สำนวนไทยแบบที่เราได้ยินกัน ดังเช่น “ข้าวยากหมากแพง” ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน ก็ไม่ใช่ยุคที่เราอยากจะเจอกันเลยแต่สุดท้ายแล้วหากหลีกหนีไม่ได้ เราทำได้แค่เตรียมพร้อมและพยายามใช้ชีวิตไปให้ได้อย่างดีที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง :
1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). ข้าวยากหมากแพง, สืบค้นเมื่อวันที่ 0000 0000 2567. จาก. www.paolohospital.com
2. ประทีป ชุมพล. (2554). ยุคข้าวยากหมากแพง, สืบค้นเมื่อวันที่ 000 00000 2567. จาก. www.mgronline.com
3. กระแสร์ รังสิพล. (2565). คนไทยพร้อมแค่ไหนในยุคข้าวยากหมากแพง?, สืบค้นเมื่อวันที่ 000 00000 2567. จาก. www.scbeic.com