ความรู้เรื่องข้าว, บทความทั้งหมด

วันพืชมงคล

เดือนพฤษภาคมที่กำลังจะถึงนี้ มีวันสำคัญของเกษตรกรชาวไทยอยู่วันหนึ่ง นั่นคือ วันพืชมงคล วันที่จะมี พระราชพิธีพืชมงคล และ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นั่นเอง

โดย พิธีพืชมงคล นั้นจะเป็นพิธีที่มีเพื่อ ทำขวัญเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่ว หรืองา เพื่อให้เมล็ดพันธุ์เหล่าเจริญเติบโต งอกงามดี ปราศจากโรค

ส่วน พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ พิธีแรกนา เป็นพิธีที่ทำการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เหล้าเกษตรกรของเรา ให้มีความตั้งมั่นตั้งใจในการเพาะปลูก เพราะข้าวนั้นเป็นอาหารหลักของคนไทยมาแต่ช้านาน

ความเป็นมาของพิธีในวันพืชมงคล

ภาพประกอบจากบทความ “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” หน่วยราชการในพระองค์

มองย้อนกลับไปในสมัยสุโขทัย (และก่อนหน้านั้น) อาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ก็คือการเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวที่เรียกว่าเป็นอาหารหลักของเรา ดังนั้นวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนส่วนใหญ่จะมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ความเชื่อ ยิ่งเป็นความเชื่อ ความศรัทธาที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในช่วงนั้นๆ ยิ่งมีความสำคัญ

ดังนั้นพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีเพื่อปลุกขวัญกำลังใจให้พสกนิกรในช่วงเวลานั้น ให้เห็นความสำคัญ และเตือนให้เพาะปลูกข้าว สมัยก่อนว่ากันว่าพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ลงมือไถนาและหว่านเมล็ดพันธุ์เป็นตัวอย่างด้วยพระองค์เอง แต่ปัจจุบันมิได้มีการทำเช่นนั้แล้ว อาจด้วยเพราะมีพระราชกรณียกิจอื่น และการเปลี่ยนแปลงของขนบธรรมเนียมตามกาลเวลา

ดังนั้นจึงได้มีการแต่งตั้งข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่นี้แทน คือ เสนาบดีกระทรวงเกตราธิการ เรียกว่า “พระยาแรกนา” และยังมี “เทพี” ที่เป็นหญิงสาว (หรือท้าวนางในราชสำนัก) ที่ได้รับการคัดเลือก ทำหน้าที่หาบกระบุงเมล็ดพันธุ์เดินตามพระยาแรกนา ช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์

นอกจากประเทศไทย ยังมีจีน อิเดีย และกัมพูชาที่มีการทำพิธีคล้ายกันนี้ โดยสมัยก่อนของไทยเรานั้นมีเพียงพราหมณ์ทำหน้าที่ในพิธีอย่างเดียว พอมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มมาด้วย จากเดิมที่มีเพียงพิธีแรกนา ก็เพิ่มพิธีพืชมงคลเข้ามาด้วยประการนี้ สามารถเรียกรวมได้ว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า

 “การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมนิยม มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสี เลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้นั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์ แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและหาทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”

ส่วนหนึ่งจากบทความ “ประวัติพระราชพิธี” โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปกติหลังพิธีแรกนาเสร็จสิ้น เมื่อคณะราชการอนุญาตจะมีเหล่าเกษตรกรที่มาเข้าชมพิธีโดยรอบวิ่งกรูเข้าไปในสนามที่มีการไถนาหว่านเมล็ด เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ที่โปรยในพิธี เพราะมีความเชื่อว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เป็นมงคล หากนำกลับไปบูชาหรือเพาะปลูกจะทำให้สามารถเพาะปลูกข้าวออกมาได้เจริญงอกงามดี

สำหรับปี 2566 นี้ วันพืชมงคลถูกกำหนดเป็นวันที่ 17 พฤษภาคมที่กำลังจะถึงนี้ ทุกท่านสามารถติดตามประกาศจากราชสำนักหรือจากข่าวในพระราชสำนักเกี่ยวพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อทราบข้อกำหนดการเข้าร่วมงาน หรือรอชมการถ่ายทอดสดได้ทางช่องทางโทรทัศน์ หรือทางออนไลน์ตามที่ประกาศ

ขอให้ปีนี้มีการเพาะปลูกที่เจริญงอกงามดีทั่วไทย ขอให้เหล่าเกษตรกรของไทยได้รับการสนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง :

1. ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ. (2022). กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566. จาก. www.moac.go.th

2. นางสาวเพลินพิศ กำราญ หน่วยราชการในพระองค์. (2022). พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566. จาก. www.royaloffice.th

3. Sanook Event. (2019). วันพืชมงคล ประวัติวันพืชมงคล ประวัติพิธีแรกนาขวัญ, สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566. จาก. www.event.sanook.com/